ประวัติความเป็นมา
เมื่อมีการจัดตั้ง "คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์" และเปิดภาคเรียนจริงในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2490 มีภาควิชารวม 10 ภาค และภาควิชาศัลยศาสตร์เป็นภาควิชาหลัก โดยมี พลตรีพระยาดำรงแพทยาคุณ เป็น คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์คนแรก และมีแพทย์ประจำแผนกอีก 6 ท่าน ได้แก่ ศ.พันตรีประจักษ์ ทองประเสริฐ, นพ.ชุบ โชติกเสถียร, นพ.สมาน มันตาภรณ์, นพ.พงษ์ ตันสถิตย์, นพ.เฉลี่ย วัชรพุกก์ และ นพ.เล็ก ณ นคร มีเตียงรับผู้ป่วย 93 เตียง, ห้องผ่าตัด 5 ห้อง และเตียงผ่าตัด 7 เตียง ได้บริการประชาชนในด้านรักษาพยาบาลและผ่าตัดโรคทางศัลยกรรมทั้งหมด โดยยังไม่แบ่งเป็นหน่วยสาขาวิชาต่างๆ นั่นคือ ศัลยแพทย์ทุกคนต้องทำทั้งศัลยกรรมทั่วไป และศัลยกรรมอื่นๆ เช่น ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์, ศัลยกรรมระบบปัสสาวะ, กุมารศัลยกรรม รวมทั้งเป็นวิสัญญีแพทย์ด้วย
ต่อมามีการแยกศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ (Urology) ออกมาเป็นสาขาย่อยในภาควิชาศัลยศาสตร์ ปฐมอาจารย์ได้แก่ ศ.นพ.สิริ สถาวระ และ รศ.นพ.อุดม พัฒนถาบุตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดผู้ป่วยโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract stone) และต่อมลูกหมากโต (BPH) โดยมีการเรียนการสอนร่วมกับศัลยศาสตร์ทั่วไป ต่อมามีการพัฒนาการเรียนการสอนและบรรจุอาจารย์เพิ่มเติมได้แก่ รศ.นพ.เรืองชัย วัชรพงศ์, รศ.นพ.ธรรมนูญ จารุวร, ศ.นพ.พิชัย บุณยะรัตเวช, ศ.นพ.อภิชาต กงกะนันทน์, รศ.นพ.สัมฤทธิ์ ลอยนวล และ รศ.นพ.เกรียงศักดิ์ ประสพสันติ มีการจัดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อไปรับใช้สังคมทั่วประเทศ โดยมีประวัติและผลงานโดยสังเขปดังนี้
- พ.ศ. 2500 ศ.นพ.สิริ สถาวระ ริเริ่มทำผ่าตัดต่อมลูกหมากโตผ่านการส่องกล้องทางท่อปัสสาวะ (Transurethral resection of prostate ; TUR-P) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย และต่อมามีการพัฒนาการผ่าตัดชนิดอื่นๆ เช่นการผ่าตัดแก้หมันชาย (vasovasostomy)
- พ.ศ. 2513 เริ่มการผ่าตัดสร้างกระเพาะปัสสาวะใหม่ด้วยลำไส้เล็ก (Ileobladder), การผ่าตัดนิ่วในไต (Anatrophic nephrolithotomy ; ANL) โดย รศ.นพ.เรืองชัย วัชรพงศ์
- พ.ศ. 2513 พัฒนาหอผู้ป่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะเป็นวอร์ดเฉพาะทางขึ้น ณ ตึกจงกลนีวัฒนวงศ์ ชั้น 3
-พ.ศ.2515 ผ่าตัดปลูกถ่ายไตสำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย (The fiirst renal transplantation)
ในวันที่ 3 มีนาคม 2515 คณาจารย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ จากหน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะและหน่วยศัลยศาสตร์ทั่วไป ประกอบด้วย ศ.นพ.สิริ สถาวระ, รศ.นพ.อุดม พัฒนถาบุตร, ศ.นพ.พิชัย บุณยะรัตเวช, รศ.นพ.พร สถิตย์พันธ์เวชา, ศ.นพ.ชัญโญ เพ็ญชาติ (อายุรแพทย์) และ พญ.ศรีสง่า มัลลิกะมาศ (วิสัญญีแพทย์) ได้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตสำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ณ ห้องผ่าตัดตึกธนาคารกรุงเทพ ถือได้ว่า เป็นการนำวงการแพทย์ไทย เข้าสู่ยุคการปลูกถ่ายอวัยวะอย่างแท้จริงในปี พ.ศ.2515 หลังจากการผ่าตัดปลูกถ่าย กระจกตาสำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ณ รพ.จุฬาลงกรณ์ ในปี พ.ศ. 2502
- พ.ศ. 2524 ริเริ่มการศึกษายูโรพลศาสตร์ (Urodynamic study) โดย ศ.นพ.พิชัย บุณยะรัตเวช
- พ.ศ. 2528 บุกเบิกการส่องกล้องเอานิ่วในไตออกผ่านทางผิวหนัง (Percutaneous nephrolithotomy ; PCNL) โดยรศ.นพ.สัมฤทธิ์ ลออนวล
- พ.ศ. 2530 เปิดคลินิกผู้มีบุตรยากและคลินิกโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (Erectile dysfunction) ณ ตึก ภปร.ชั้น 6 และริเริ่มการใช้กล้องส่องเอานิ่วออกทางท่อไต (Ureteroscopy ; URS) โดย ศ.นพ.พิชัย บุณยะรัตเวช, รศ.นพ.สัมฤทธิ์ ลออนวล และรศ.นพ.อภิชาติ กงกะนันทน์
- พ.ศ. 2530 ริเริ่มผ่าตัดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะและสร้างกระเพาะปัสสาวะใหม่ด้วยลำไส้เล็ก (Radical cystectomy with neobladder) เป็นครั้งแรกของประเทศไทยโดย รศ.นพ.สัมฤทธิ์ ลออนวล จนภายหลังแพร่หลายไปทั่วประเทศ
- พ.ศ. 2531มีการใช้เครื่องสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทกจากภายนอก (Extracorporeal schockwave lithotripsy ; ESWL) เป็นเครื่องแรกของภาครัฐบาล
- พ.ศ. 2532-2533 เริ่มการใช้เครื่องอุลตราซาวด์ตรวจต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก
- พ.ศ. 2541 เริ่มทำการผ่าตัดโดยการส่องกล้องผ่านหน้าท้อง (Laparoscopic urosurgery) ได้แก่ การผ่าตัดไต (Laparoscopic nephrectomy), การผ่าตัดต่อมหมวกไต (Laparoscopic adrenalectomy)
- พ.ศ. 2543 เริ่มงานศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะในสตรี (Female urology) และคลินิกชำ้รั่ว (Incontinence clinic)
- พ.ศ. 2554 เริ่มการผ่าตัดส่องกล้องผ่านหน้าท้องโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย (Robotic-assisted surgery) โดย ผศ.นพ.อภิรักษ์ สันติงามกุล