ความรู้เรื่องโรคสำหรับประชาชน

การบำบัดด้วยออกซิเจนแรงดันสูงในผู้ป่วยกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากรังสี

        คุณมีปัญหาปัสสาวะเป็นเลือดหรือไม่? เคยมีประวัติการใช้รังสีรักษาในอุ้งเชิงกรานหรือไม่? ไม่ว่าจะเป็นการรักษามะเร็งลำไส้ ต่อมลูกหมาก หรือทางนรีเวช การบำบัดด้วยออกซิเจนแรงดันสูงอาจเป็นทางออกของคุณ

        จากอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งที่พบมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน แนวทางการรักษามีทั้งการผ่าตัด ให้เคมีบำบัด และการฉายรังสี โดยจะพบว่า 60% ของผู้ป่วยมะเร็งนั้นจะได้รับรังสีรักษาร่วมด้วย ซึ่งในการฉายรังสีนั้นนอกจากจะมีผลโดยตรงต่อมะเร็งแล้วเนื้อเยื่อปกติข้างเคียงย่อมได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยแบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ

  1. แบบเฉียบพลัน สัมพันธ์โดยตรงกับขนาดของรังสีและจำนวนครั้งที่ได้รับ มักพบในอวัยวะที่เนื้อเยื่อแบ่งตัวได้เร็วเช่น เยื่อบุช่องปาก ลำไส้ โดยอาการเหล่านี้สามารถหายได้เองหลังหยุดการฉายรังสี
  2. แบบเรื้อรัง มักมีอาการหลังการฉายรังสีมากกว่า 6 เดือน สาเหตุสำคัญเกิดจากเส้นเลือดขนาดเล็กถูกทำลาย และมีการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุผิวตามมา เป็นการบาดเจ็บที่ไม่หายเอง ซ้ำยังเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงผลข้างเคียงต่อกระเพาะปัสสาวะเป็นหลัก เมื่อผู้ป่วยมีปัสสาวะเป็นเลือดถึงแม้จะมีประวัติการฉายรังสีมาก่อน การวินิจฉัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากรังสีนั้น ต้องอาศัยการตรวจอย่างละเอียดจากแพทย์ว่าไม่มีภาวะอื่น เช่น การมีนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือมะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ เมื่อวินิจฉัยแล้วแนวทางการรักษาขึ้นกับระดับความรุนแรงตั้งแต่ การใช้ยา การจี้หยุดเลือด ไปจนถึงการผ่าตัดใหญ่ 

        การบำบัดด้วยออกซิเจนแรงดันสูงถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาเพื่อบรรเทาอาการปัสสาวะเป็นเลือด โดยอาศัยกลไกการกระตุ้นการสร้างเลือดใหม่ที่แข็งแรงไม่เปราะแตกง่าย วิธีการรักษาทำโดยให้ผู้ป่วยหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ภายใต้ความดันบรรยากาศที่มากกว่า 1 บรรยากาศภายในห้องปรับแรงดันบรรยากาศสูง เปรียบเสมือนการดำน้ำอยู่ภายใต้ความลึกต่ำกว่าระดับน้ำทะเลขณะที่อากาศในถังเป็นออกซิเจนบริสุทธิ์

ปัจจุบันห้องปรับแรงดันบรรยากาศสูง (Hyperbaric Chamber) ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยแบ่งออกเป็น 2ชนิดใหญ่ๆ คือ

1. Multiplace  เป็นชนิดหลายที่นั่ง คล้ายกับการนั่งเครื่องบินที่หายใจผ่านหน้ากากออกซิเจนแต่เป็นการปรับเพิ่มความดันบรรยากาศ สามารถนำเครื่องมือรวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์เข้าไปดูแลได้ใกล้ชิด

2. Monoplace สำหรับผู้ป่วยคนเดียว คล้ายกับการนอนในแคปซูลที่บรรจุออกซิเจนบริสุทธิ์ จึงไม่จำเป็นต้องหายใจผ่านหน้ากาก     

สำหรับการรักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากรังสีนั้น ใช้ความดันบรรยากาศประมาณ 2.4 ATA หรือประมาณความลึก 45 ฟุต ครั้งละ 90 นาที จำนวนทั้งสิ้น 40 ครั้ง โดยผู้ป่วยในสิทธิประกันสังคม และประกันสุขภาพสามารถส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัดได้ ส่วนในการเบิกจ่ายกรมบัญชีกลางนั้น ต้องมีการสำรองจ่ายก่อนแล้วนำใบเสร็จไปเบิกกับต้นสังกัดอีกครั้ง โดยค่าใช้จ่ายต่อครั้งประมาณ 1,250-1,600 บาทขึ้นกับชนิดของห้องปรับแรงดันบรรยากาศสูง

อย่างไรก็ตามภาวะแทรกซ้อนของการบำบัดด้วยออกซิเจนแรงดันสูงอาจเกิดได้ แม้จะพบได้น้อยแบ่งได้เป็น

  1. ภาวะแทรกซ้อนจากความกดบรรยากาศที่เพิ่มและลดระหว่างการรักษา เช่น อาการปวดหู ไซนัส ปวดฟัน รวมทั้งการมีลมรั่วจากปอด อาการเหล่านี้สามารถป้องกันได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกายก่อนเข้ารับการบำบัด และการปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด
  2. ภาวะแทรกซ้อนจากการได้รับออกซิเจนสูง เช่น อาการชัก หรือเจ็บแน่นหน้าอก ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายได้เองหลังหยุดการรักษา

ปัจจุบันการบำบัดด้วยออกซิเจนแรงดันสูงถูกนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยภาวะต่างๆ อย่างแพร่หลายมากขึ้น 

        สำหรับภาวะกระเพาะปัสสาวะอับเสบจากรังสีนั้นอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการรักษา แต่ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ลดอาการและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยได้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามกับศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ หรือ กองเวชศาสตร์ใต้น้ำและการบิน กรมแพทย์ทหารเรือ สถาบันเวชศาสตร์การบิน กรมแพทย์ทหารอากาศ  และโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต

 

พญ.ประพรพิม อุตมโชติ 

3 พฤษภาคม 2557