แพทย์จะแนะนำท่านให้เจาะชิ้นเนื้อที่ต่อมลูกหมากมาตรวจ เมื่อพบความผิดปกติ 2 ประการคือ
- คลำพบความผิดปกติของต่อมลูกหมากขณะตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก
- ผลการตรวจเลือด PSA สูงกว่าปกติ (>4 ng/ml)
การเจาะชิ้นเนื้อที่ต่อมลูกหมากเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการวินิจฉัยโรคของต่อมลูกหมากเท่านั้น การตรวจทำโดยการสอดเครื่องตรวจอัลตราซาวด์เข้าทางทวารหนัก และใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อโดยการสุ่ม ซึ่งผู้ป่วยสามารถทนต่อความเจ็บเล็กน้อยนั้นได้ การเจาะแต่ละครั้งจะถูกทำเพื่อให้ได้ชิ้นเนื้อประมาณ 6-12 ชิ้น
การเจาะชื้นเนื้อครั้งเดียวแล้วไม่พบความผิดปกติ อาจมีความจำเป็นต้องทำการเจาะชิ้นเนื้อใหม่อีกครั้งถ้าแพทย์ผู้รักษาตรวจและยังสงสัยว่าน่าจะมีความผิดปกตินั้นอยู่
การเจาะชิ้นเนื้อที่ต่อมลูกหมากเป็นการตรวจที่ปลอดภัย เกิดผลแทรกซ้อนทีสามารถแก้ไขได้ประมาณ 1%
ถ้าท่านมีภาวะใดต่อไปนี้ กรุณาแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย

การเตรียมพร้อมก่อนการตรวจ
- รับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อตามที่แพทย์แนะนำ
- ท่านสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ
- ไม่ต้องเตรียมตัวเพื่อนอนโรงพยาบาล ท่านสามารถกลับบ้านได้หลังตัดชิ้นเนื้อเสร็จ
- ยาประจำตัวทุกชนิด เช่น ยาความดันโลหิต ยาเบาหวาน ให้รับประทานยาตามปกติ เว้นแต่ยามีฤทธิ์ห้ามการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน หรือวาฟาริน ซึ่งต้องงดก่อนหน้าการตัดตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก อย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือตามคำสั่งแพทย์
- ควรแจ้งประวัติการแพ้ยาต่างๆ
- นำฟิล์มเอกซเรย์มาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟิล์มครั้งสุดท้ายที่มีอยู่
- ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอในคืนก่อนมาเจาะชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก
การปฏิบัติตัวในวันตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก
-
ยิ่นบัตรนัดที่เคาน์เตอร์ด้านหน้า ตึก ภปรชั้น 6 ตามเวลานัด และรอรับการเรียกชื่อ
-
เตรียมฟิล์มเอกซเรย์ให้พร้อม สามารถรับฟิล์มด้วยตนเองได้ที่ ภปร ชั้น 4
-
ขณะทำการเจาะชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก ให้ทำตัวตามสบาย นอนตามท่าที่เจ้าหน้าที่จัดให้
-
ผู้ป่วยจะได้รับการวัดความดันโลหิต ชีพจร ในขณะทำการตัดตรวจชิ้นเนื้อ
-
เวลาที่ใช้ในการตรวจ ประมาณ 15-30 นาที
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
- มีไข้
เมื่อพบว่ามีไข้หลังการเจาะชิ้นเนื้อให้กลับมาที่โรงพยาบาลโดยด่วน ไม่แนะนำให้ท่านซื้อยาลดไข้มารับประทานเอง โดยท่านสามารถมารับบริการได้ที่ห้องฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง
- ปัสสาวะมีเลือดปน
อาจพบมีเลือดปนออกมาเล็กน้อยกับปัสสาวะได้นานถึง 7 วัน ท่านสามารถสังเกตอาการที่บ้านได้ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล แต่ถ้ามีเลือดปนออกมากับปัสสาวะมากผิดสังเกต ให้ท่านกลับมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
- อุจจาระมีเลือดปน
โดยมากเลือดที่ออกปนมากับอุจจาระมักจะออกมาวันแรกหลังการตัดชิ้นเนื้อแล้วหายไป ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล แต่ถ้าออกมากให้กลับมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
- อสุจิมีเลือดปน
โดยมากเลือดที่ปนออกมากับอสุจิจะออกมาในเวลาไม่กี่วันแล้วจะหายไป ไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์
- ปัสสาวะไม่ออก
พบได้ 1-2% หลังการเจาะชิ้นเนื้อ จำเป็นต้องมาพบแพทย์ โดยท่านสามารถรับบริการได้ที่ห้องฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง
การปฏิบัติตัวหลังการเจาะชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก
-
รับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
-
อาการผิดปกติที่ต้องมาพบแพทย์ก่อนนัดคือ มีไข้สูงหนาวสั่น ปัสสาวะเป็นเลือดสดแดงเข้มตลอด ปัสสาวะมีลิ่มเลือดหรือแดงเกินกว่า 1 สัปดาห์ ปวดปัสสาวะแต่ปัสสาวะไม่ออก ปวดท้องหรือปวดหลังมาก และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยยาแก้ปวดทั่วไป ให้มาพบแพทย์ศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะได้ทุกวันจันทร์ ถึง วันพฤหัสบดี เวลา 9.00-12.00 น. ติดต่อลงทะเบียนที่ ภปร ล่างเพื่อขึ้นแฟ้มประวัติก่อน หรือติดต่อห้องฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมง
-
มารับการตรวจติดตามตามนัดประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อรับฟังผลตรวจทางพยาธิวิทยา
เรียบเรียงโดย ผศ.นพ.สุพจน์ รัชชานนท์
อาจารย์หน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ
ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หมายเหตุ หากมีปัญหาสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ตึก ภปร6 เบอร์โทรศัพท์ 022565328 ได้ทุกวันทำการ จันทร์-ศุกร์ 9.00-12.00 น.