การปฏิบัติตัวก่อน-หลังผ่าตัด

การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (ESWL : Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy)

การสลายนิ่ว คืออะไร
      การสลายนิ่วเป็นกรรมวิธีรักษาโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะที่ไม่ต้องผ่าตัด ไม่มีบาดแผล และไม่ต้องดมยาสลบ ทำโดยการใช้คลื่นเสียงที่มีความจำเพาะ ทำให้เกิดแรงกระแทกที่ก้อนนิ่ว ทำให้เกิดรอยร้าวจนแตกเป็นผงในที่สุด ผงนิ่วจะหลุดไหลออกมาพร้อมกับน้ำปัสสาวะ คลื่นเสียงที่กำเนิดมาจากเครื่องสลายนิ่วจะถูกควบคุมให้พุ่งสู่ก้อนนิ่วโดยไม่ทำอันตรายกับเนื้อเยื่อของผู้ป่วย
      การสลายนิ่ว ถึงแม้จะสามารถหลีกเลี่ยงการผ่าตัดออกไปได้มาก แต่ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เนื่องจากนิ่วในทางเดินปัสสาวะไม่สามารถใช้วิธีการสลายนิ่วนี้ได้หมดทุกประเภท ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกการใช้ เพื่อให้ผลการรักษาได้ดีที่สุดโดยไม่มีอาการแทรกซ้อน

 

 

ผู้ป่วยโรคนิ่วที่สามารถรักษาได้ด้วยการสลายนิ่ว ควรมีลักษณะดังนี้ คือ

  1. นิ่วไม่ควรมีขนาดโตเกินไป โดยรวมแล้ว นิ่วในไตไม่ควรโตเกิน 2 เซนติเมตร และนิ่วในท่อไตไม่ควรโตเกิน 1-1.5 เซนติเมตร                                                                                                                                                                    

  2. นิ่วไม่ควรเป็นชนิดแคลเซียมออกซาเลตโมโนไฮเดรต แคลเซียมฟอสเฟตและนิ่วซีสตีน เพราะไม่ตอบสนองกับการรักษา
  3. ไม่มีการอุดตันของทางเดินปัสสาวะในส่วนที่อยู่ต่ำกว่าก้อนนิ่ว
  4. ไตด้านที่มีนิ่ว และต้องการสลายนิ่วนั้น ควรจะยังทำงานได้เป็นปกติ

 

ข้อห้ามในการสลายนิ่ว

  1. ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์
  2. ผู้ป่วยที่มีความดันเลือดที่ไม่คงที่หรือควบคุมไม่ได้
  3. ผู้ป่วยที่มีการอักเสบของทางเดินปัสสาวะที่ยังควบคุมไม่ได้
  4. ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด หรือได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  5. มีภาวะอุดตันของทางเดินปัสสาวะในตำแหน่งที่ต่ำกว่านิ่ว
  6. ผู้ป่วยมีเส้นเลือดโป่งพองในช่องท้อง

 

ปัญหาแทรกซ้อนที่อาจพบได้หลังการสลายนิ่ว
โดยทั่วไปปัญหาแทรกซ้อนหลังการทำ พบได้น้อยและมักไม่รุนแรง ได้แก่

  1. ปัสสาวะแดง หลังการสลายนิ่วอาจจะมีปัสสาวะแดงได้ภายใน 24 ชั่วโมง และจะหายไปเอง
  2. ปวดท้องหรือปวดหลังมาก เนื่องจากก้อนนิ่วแตกร่วงมาอุดท่อไตในส่วนล่างที่แคบกว่า ถ้าก้อนนิ่วนั้นไม่โตหรือเป็นผงนิ่วนั้นจะหลุดได้เอง หากเป็นก้อนโตต้องสลายนิ่วซ้ำ หรือใช้กล้องส่องเข้าไปคล้องนิ่ว
  3. มีไข้ เนื่องจากการอักเสบ เพราะแบคทีเรียที่ฝังตัวอยู่ที่ก้อนนิ่ว มีการกระจายตัวออก รักษาได้ด้วยการให้ดื่มน้ำให้มาก หรือการใช้ยาปฏิชีวนะช่วย

 

การเตรียมตัวก่อนการสลายนิ่ว

  • เมื่อได้รับการตรวจจากแพทย์ และแนะนำให้ทำการสลายนิ่ว ให้มารับการรักษาตามนัด หากมีความผิดปกติก่อนวันนัด เช่น มีไข้ หรือมีอาการปวดมาก ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบ
  • ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร แต่ไม่ควรรับประทานมากจนอิ่มเกินไป (เพราะอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้)
  • ยาประจำตัวทุกชนิด เช่น ยาลดความดัน ยาเบาหวาน ให้รับประทานยาตามปกติ เว้นแต่ยามีฤทธิ์ห้ามการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน หรือ วาฟาริน ซึ่งต้องงดก่อนหน้าการสลายนิ่วอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือตามคำสั่งแพทย์
  • ควรแจ้งประวัติการแพ้ยาต่างๆ
  • นำฟิล์มเอกซเรย์มาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟิล์มหลังสุดที่มีอยู่
  • ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอในคืนก่อนมาสลายนิ่ว

 

การปฏิบัติตัวในวันที่มาสลายนิ่ว

  • ยื่นบัตรนัดที่เคาน์เตอร์ด้านหน้าตามเวลานัด รอรับการเรียกชื่อจากเคาน์เตอร์ด้านหน้า
  • เตรียมฟิล์มเอกซเรย์ให้พร้อม สามารถรับฟิล์มด้วยตัวเองได้ที่ตึกภปร. ชั้น 4
  • ทำตัวตามสบาย นอนตามท่าที่เจ้าหน้าที่จัดให้
  • ผู้ป่วยจะได้รับการวัดความดันโลหิต ชีพจร ระดับของออกซิเจนก่อนและในขณะทำการสลายนิ่ว
  • จังหวะการยิ่ิงนิ่วจะค่อยเริ่มจากเบาเป็นแรงขึ้น หากมีอาการปวดมากควรแจ้งให้ทราบ รวมถึงอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออกมาก เวียนศีรษะ  เพื่อเจ้าหน้าที่ได้ทำการช่วยเหลือต่อไป
  • เวลาที่ใช้ในการสลายนิ่วประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที

 

การปฏิบัติตัวหลังการสลายนิ่ว

  • ดื่มน้ำให้มาก ประมาณ 3 ลิตรต่อวัน เพื่อขับนิ่วที่แตกออกมากับปัสสาวะที่ใสขึ้น และป้องกันการเกิดนิ่วใหม่ (ในกรณีที่มีโรคประจำตัวที่มีข้อห้ามในการดื่มน้ำควรปรึกษาแพทย์)
  • รับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • อาการผิดปกติที่ต้องมาพบแพทย์ก่อนวันนัด คือ มีไข้สูงหนาวสั่น ปัสสาวะเป็นเลือดสดแดงเข้มตลอด หรือน้ำปัสสาวะหากมีลิ่มเลือดหรือแดจางเกินกว่า 1 สัปดาห์ ปวดปัสสาวะแต่ปัสสาวะไม่ออก ปวดท้องหรือปวดหลังมาก และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยยาแก้ปวดทั่วไป ให้มาพบแพทย์ศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะได้ทุกวันจันทร์ ถึง พฤหัสบดี เวลา 9.00-12.00 น. ติดต่อลงทะเบียนที่ ภปร ล่างเพื่อขึ้นแฟ้มประวัติก่อน หรือห้องฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  • มารับการตรวจติดตามและเอกซเรย์ตามนัด เพื่อประเมินนิ่วเพราะอาจจะต้องสลายนิ่วซ้ำ
  • ทั้งนี้เพื่อให้นิ่วสลายหมด อาจจะต้องทำ 1-3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างประมาณ 1-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของนิ่ว
  • หากการสลายนิ่วไม่ประสบผลสำเร็จ อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาอื่นแทน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ชี้แจงให้ทราบ

 

หมายเหตุ หากมีปัญหาสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 022565328 ได้ทุกวันทำการ จันทร์ถึงศุกร์ 9.00-12.00น.