ข่าวประชาสัมพันธ์



การผ่าตัดส่องกล้องโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย

Date: 
01-04-13

การผ่าตัดส่องกล้องโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย (Robotic-assisted laparoscopic surgery) เป็นนวัตกรรมการผ่าตัดแบบใหม่ล่าสุดที่นำแขนกลของหุ่นยนต์มาช่วยในการผ่าตัด

อะไรคือแขนกลหุ่นยนต์?
                การผ่าตัดลักษณะนี้เป็นการผ่าตัดส่องกล้องผ่านรูที่หน้าท้อง โดยใช้แขนกลหุ่นยนต์ (Robotic arm) จำนวน 3-4 แขนเพื่อช่วยในการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้องและเครื่องมือผ่าตัด โดยศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะควบคุมแขนกลเหล่านี้ผ่านแท่นควบคุม (console)   ที่อยู่ในบริเวณห้องเดียวกัน

แขนกลหุ่นยนต์มีข้อดีอย่างไร?
                แขนกลหุ่นยนต์ถูกออกแบบมาให้มีลักษณะคล้ายข้อมือของมนุษย์จึงสามารถที่จะเคลื่อนไหวได้รอบทิศ มีการตัดทอนการสั่นของเครื่องมือผ่าตัด และกล้องที่ใช้มีกำลังขยายภาพชนิดสามมิติและให้ความคมชัดสูง องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ศัลยแพทย์ทำการผ่าตัดได้แม่นยำกว่าการผ่าตัดส่องกล้องแบบธรรมดา การเลาะและเย็บเนื้อเยื่อทำได้ละเอียดอ่อนกว่า และสามารถใส่เครื่องมือไปทำการผ่าตัดอวัยวะที่อยู่ลึกในร่างกายเช่นต่อมลูกหมากและกระเพาะปัสสาวะได้ ส่งผลให้ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดมากยิ่งขึ้น

แขนกลหุ่นยนต์สามารถนำมาช่วยในการผ่าตัดประเภทใดได้บ้าง?

                ในด้านศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ นิยมนำแขนกลมาใช้ในกรณีดังนี้

  • การผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก (Radical prostatectomy) : สามารถเลาะก้อนมะเร็งต่อมลูกหมากออกจากเส้นประสาทที่มาเลี้ยงอวัยวะเพศได้แม่นยำมากขึ้นทำให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศหลังผ่าตัดได้น้อยลง และการเย็บเชื่อมกระเพาะปัสสาวะเข้ากับท่อปัสสาวะก็ทำได้โดยละเอียดอ่อนซึ่งส่งผลดีต่อการควบคุมการปัสสาวะหลังผ่าตัด
  • การผ่าตัดแก้ไขกรวยไตตีบ (Pyeloplasty) : เมื่อผ่าตัดเอากรวยไตส่วนที่มีปัญหาออกไปแล้วก็จะสามารถเย็บเชื่อมกรวยไตส่วนที่ดีกับท่อไตเข้าหากันได้โดยละเอียดอ่อน ลดโอกาสการเกิดกรวยไตตีบซ้ำหลังผ่าตัด
  • การผ่าตัดมะเร็งไตแบบตัดเนื้อไตออกบางส่วน (Partial nephrectomy) : การใช้แขนกลหุ่นยนต์ร่วมกับเครื่องอัลตราซาวน์ผ่านรูที่หน้าท้อง ทำให้ผ่าตัดก้อนมะเร็งออกจากเนื้อไตส่วนที่ดีได้ง่ายขึ้น ลดโอกาสการเหลือเนื้อมะเร็งหลังการผ่าตัด

 

                ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้ริเริ่มการผ่าตัดส่องกล้องโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยมาตั้งแต่พ.ศ.2554 และเป็นหุ่นยนต์รุ่นที่มีความทันสมัยมากที่สุด อย่างไรก็ตามเนื่องจากมูลค่าของหุ่นยนต์ที่มากกว่าร้อยล้านบาทและค่าบำรุงรักษาที่สูง ทำให้เกิดข้อจำกัดในการนำมาใช้งานเนื่องจากผู้ป่วยจะต้องชำระค่าใช้จ่ายมากกว่าการผ่าตัดส่องกล้องแบบธรรมดา